รายละเอียดบทคัดย่อ


ทองมา มานะกุล. . บทเรียนจากภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่เทคโนโลยีเกษตรยั่งยืนระบบไม่ผลต่างระดับที่มีลางสาดเป็นพืชหลัก บ้านสวนเขื่อน อำเภอเมือง จังหวัดแพร่.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 2 :ระบบเกษตรเพื่อการจัดการทรัพยากรและพัฒนาชนบทเชิงบูรณาการ . ระหว่างวันที่ 26-27 สิงหาคม 2545  ณ โรงแรมโฆษะ จ. ขอนแก่น.  น.68-73.

บทคัดย่อ

         การปลูกไม้ผลต่างระดับโดยมีลางสาดเป็นพืชหลักของเกษตกรบ้านสวนเขื่อน อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 100 ปี เริ่มต้นจากการนำเมล็ดพันธุ์ลางสาดจากจังหวัดอุตรดิตถ์ มาปลูกแซมในพื้นที่สวนหลังบ้านผสมผสานกับไม้ผลชนิดอื่นในรูปแบบไม้ผลต่างระดับ ไม่มีระยะปลูกที่แน่นอนและแทบจะไม่ใช้สารเคมีใดๆ เลย การดูแลรักษาส่วนใหญ่อาศัยเทคโนโลยีและภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้แก่ การปล่อยให้เศษซากใบไม้คลุมดินเพื่อรักษาความชื้นในดิน การอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ เช่น ระลอก กระแต เพื่อช่วยกำจัดหนอนชอนเปลือกลางสาด การให้น้ำสวนลางสาดโดยสังเกตการเหี่ยวของใบบอนพื้นเมืองชนิดหนึ่ง เป็นต้น จุดเด่นของลางสาดบ้านสวนเขื่อนคือมีรสชาติหวานหอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้เกษตรกรสามารถกำหนดราคาผลผลิตได้เอง สูงกว่าราคาลางสาดจังหวัดอุตรดิตถ์ซึ่งเป็นแหล่งผลิตดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์ประเด็นปัญหาการผลิตลางสาด โดยกลุ่มองค์กรร่วมและเกษตรกรภายใต้โครงการพัฒนาเกษตรกรยั่งยืน พบประเด็นปัญหาหลักคือ การขาดน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปัญหาแมลงศัตรูลางสาด (หนอนชอนเปลือก แมลงวันทองและผีเสื้อมวนหวาน) และปัญหาโรคโคนเน่า นอกจากนั้นยังพบปัญหาลางสาดให้ผลผลิตช้า เนื่องจากการขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด โครงการพัฒนาเกษตรยั่งยืนโดยการประสานงานของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1 ได้ดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยี โดยผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นกับเทคโนโลยีแผนใหม่ ได้แก่ การพัฒนาระบบการให้น้ำ การจัดการศัตรูลางสาดแบบผสมผสานควบคู่ักับการเสริมทักษะเกษตรกรโดยการฝึกอบรมและศึกษาดูงานด้านเทคนิคการขยายพันธุ์ลางสาด การจัดการสวนลางสาดแผนใหม่และการพัฒนาตลาดลางสาด โดยดำเนินการกับกลุ่มองค์กรร่วม ผ่านกระบวนการพัฒนาเทคโนโลยีแบบมีส่วนร่วม (Participatory Technology Development, PTD) ผลการดำเนินงานโครงการฯ ระหว่างปี 2543-45 ได้ช่วยเสริมประสิทธิภาพระบบการลางสาด ลดการระบาดทำลายของแมลงศัตรูลางสาด รวมทั้งเสริมทักษะและพัฒนากลุ่มเกษตรกร มีการจัดตั้งกองทุนหมุนเวียน นอกจากนั้นยังช่วยเสริมสร้างบทเรียน และประสบการณ์ด้านกระบวนการทำงานในรูปกลุ่มแก่เกษตรกร โดยมีก่ชารประสานงานอย่างใกล้ชิดกับศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลสวนเขื่อน