รายละเอียดบทคัดย่อ


เริงศักดิ์ กตเวทิน, อนันต์ พลธานี, เกริก ปั้นเหน่งเพ็ชร, สมศักดิ์ สุขจันทร์ และ สุนันทา กิ่งไพบูลย์. . แบบแผนการจำแนกที่ดินเพื่อกำหนดคำแนะนำในการผลิตข้าวหอมมะลิซึ่งเฉพาะเจาะจงกับสภาพของพื้นที่ : กรณีศึกษาทุ่งกุลาร้องไห้.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 2 :ระบบเกษตรเพื่อการจัดการทรัพยากรและพัฒนาชนบทเชิงบูรณาการ . ระหว่างวันที่ 26-27 สิงหาคม 2545  ณ โรงแรมโฆษะ จ. ขอนแก่น.  น.252-265.

บทคัดย่อ

         ปัจจุบันการผลิตข้าวหอมมะลิซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังมีประสิทธิภาพต่ำ แนวทางหนึ่งในการปรับปรุงคือการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีความเฉพาะเจาะจงกับสภาพพื้นที่มากขึ้น วัตถุประสงค์หลักของการศึกษานี้คือเพื่อพัฒนาแบบแผนการจำแนกที่ดิน (Land classification scheme) ซึ่งจะช่วยให้สามารถกำหนดคำแนะนำด้านเทคโนโลยีการผลิตอย่างเฉพาะเจาะจงกับสภาพพื้นที่ลักษณะต่างๆ ของทุ่งกุลาร้องไห้ยิ่งขึ้น การศึกษาเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ปัญหาหลักด้านกายภาพของการผลิต จากนั้นหาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่เป็นปัญหาเหล่านี้กับลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ ซึ่งเป็นลักษณะที่สามารถลากขอบเขตจัดทำเป็นแผนที่ได้ ทั้งนี้โดยพยายามให้หน่วยการจำแนกแต่ละหน่วยมีความสม่ำเสมอในลักษณะทางกายภาพที่สัมพันธ์กับปัญหาและประสิทธิภาพในการผลิต รวมทั้งมีความต้องการด้านการจัดการที่คล้ายคลึงกันเมื่อใช้ในการปลูกข้าวชนิดนี้ แบบแผนการจำแนกวึ่งพัฒนาขึ้น ประกอบด้วยลำดับขั้นของการจำแนกสามลำดับขั้นแรก เรียกว่า "เขตการผลิต" (Zone) เป็นการจำแนกระดับหยาบที่สุด อาศัยสัญฐานภูมิประเทศเป็นเกณฑ์ขั้นต่อมาคือ "เขตการผลิตย่อย" (Sub -zone) ซึ่งเป็นการแบ่งย่อยเขตการผลิตโดยใช้คุณสมบัติของดินที่สำคัญสามประการ ได้แก่ ความเค็ม ความลึกและเนื้อดิน สำหรับขั้นที่ละเอียดที่สุดคือ "หน่วยการผลิต" (Unit) เป็นการแบ่งเขตการผลิตย่อยลงไปอีกโดยใช้ความแตกต่างด้านความอุดมสมบูรณ์ของดิน รายงานนี้นำเสนอขั้นตอนในการพัฒนาแบบแผนการจำแนกที่ดินดังกล่าว พร้อมทั้งผลการจำแนกในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่สำคัญ มีพื้นที่ปลูกและผลผลิตถึงประมาณสองในสามของประเทศ ข้าวหอมมะลิที่ปลูกในภูมิภาคนี้ โดยเเฉพาะอย่างยิ่งในเขตทุ่งกุลาร้องไห้จัดว่ามีคุณภาพดีที่สุด มีเมล็ดยาว ขาวบริสุทธิ์ นุ่มและหอม อย่างไรก็ตามการปลูกข้าวพันธุ์ดังกล่าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังจำเป็นต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เนื่องจากผลผลิตที่ได้อยู่ในเกณฑ์ต่ำ จากการศึกษาของโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตข้าวหอมมะลิระดับเกษตรกร (2542) โดยใช้แบบจำลองการเจริญเติบโตของพืช (Crop model) เพื่อประเมินผลผลิตที่ควรจะได้ภายใต้สภาพดินฟ้าอากาศที่เป็นอยู่และปัจจัยอื่นเหมาะสม (Attainable yieid) ในพื้นที่แปดอำเภอของจังหวัดร้อยเอ็ด และพบว่า ผลผลิตที่ควรจะได้สูงกว่าผลผลิตที่ได้จริง (Actual yield) ประมาณ 200 ถึง 400 กก.ไร่-1 การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตข้าวหอมมะลิ นอกจากจะทำโดยการเพิ่มผลผลิตแล้วยังอาจทำได้โดยการลดปัจจัยการผลิต (Input) โดยที่ผลผลิตยังคงอยู่ในระดับซึ่งน่าพอใจ (อนันต์และคณะ, 2543) แต่ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มผลผลิตหรือลดปัจจัยการผลิต สิ่งที่ควรดำเนินการคือการจัดทำคำแนะนำการผลิตที่เหมาะสมและเฉพาะเจาะจงกับสภาพพื้นที่ลักษณะต่างๆ (Katawatin et al. 1998) ในการจัดทำคำแนะนำการผลิตดังกล่าว พื้นที่จะต้องถูกจำแนกในลักษณะที่การผลิตในแต่ละหน่วยการจำแนก ต้องการการจัดการคล้ายคลึงกัน ซึ่งหมายความว่าแต่ละหน่วยต้องมีการสม่ำเสมอของลักษณะที่ดิน (Land characteristic) ต่างๆ ซึ่งสัมพันธ์กับปัญหาและประสิทธิภาพของการผลิตการศึกษาเพื่อกำหนดคำแนะนำในการผลิตข้าวหอมมะลิ (ข้าวดอกมะลิ 105, KDML 105) ประกอบด้วยงานหลักสองส่วนซึ่งถูกดำเนินการควบคู่กันไป ส่วนที่หนึ่งเป็นการพัฒนาแบบแผนการจำแนกที่ดิน (Land classification scheme) และส่วนที่สองเป็นการศึกษาค้นคว้าหาเทคโนโลยีการผลิตสำหรับสภาพพื้นที่ซึ่งจำแนกไว้แต่ละแบบ รายงานนี้เป็นการศึกษาในส่วนแรก ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแบบแผนการจำแนกที่ดินและใช้แบบแผนที่พัฒนาขึ้นนี้จำแนกที่ดินในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ สำหรับเป็นพื้นฐานของการศึกษาในส่วนที่สอง