รายละเอียดบทคัดย่อ


ธนาภรณ์ จิตตปาลพงศ์, วิรัตดา สีตะสิทธิ์ และ ผะอบ ใจเย็น. 2531. การเพิ่มผลผลิตในนาปลาเขตทุ่งกุลาร้องไห้ อ. สุวรรณภูมิ จ. ร้อยเอ็ด.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 5 : . ระหว่างวันที่ 4-7 เมษายน 2531 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ.  น.216-225.

บทคัดย่อ

         ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นดินแดนที่มีความแห้งแล้ง มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล มีเนื้อที่ 2,107,691 ไร่ ครอบคลุมเนื้อที่บางส่วนของ 5 จังหวัด ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม และยโสธร โดยพื้นที่ประมาณ 3 ใน 5 ส่วน ของทุ่งกุลาร้องไห้ อยู่ในเขตจังหวัดร้อยเอ็ด ลักษณะทางภูมิประเทศ มีพื้นที่เป็นแบบแอ่งกะทะกว้าง รอบ ๆ เป็นชายทุ่งขอบสูงลาดเหมารวมกันตอนกลางพื้นที่นี้ แต่เดิมไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้เพราะขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง และดินมีคุณภาพต่ำ ในปี 2506 รัฐบาลได้จัดตั้งคณะทำงาน โดยมีหน่วยงานร่วมกันทำงาน 22 หน่วย กรมประมงเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้ร่วมรับผิดชอบ ได้จัดตั้งคณะทำงานดำเนินตามแผยแม่บทโครงการพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้เมื่อปี 2522 (ศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาประมงน้ำจืด 2529) สภาพการประมงในทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นพื้นที่ที่มีผลผลิตทางการประมงสูง เนื่องจากเป็นบริเวณที่ราบ น้ำท่วมมีแม่น้ำ ลำคลอง ไหลผ่านหลายสายเช่น แม่น้ำมูล แม่น้ำชี ลำเสียวใหญ่ และลำพลับพลา ในช่วงฤดูฝนจะมีพื้นที่น้ำท่วมประมาณ 1 ล้านไร่ มีหนองน้ำธรรมชาติประมาณ 140,000 ไร่ แต่ในฤดูแล้งน้ำจะถูกดูดซึมอย่างรวดเร็วทำให้ลำน้ำบางสายแห้ง ผลผลิตที่ได้จากทุ่งกุลาร้องไห้ ประมาณ 5,179 ตัน/ปี จากการสำรวจปี 2524 ประชากรจับปลาได้ 3 กก./วัน/ครอบครัว และจากการสำรวจเมื่อเดือนตุลาคม 2527 พบว่าราษฎรมีรายได้สุทธิเฉลี่ย 1,827.92 บาท/ครัวเรือน (ศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาประมงน้ำจืด 2529) ทางกรมประมงได้มีแนวทางในการจัดทำการเลี้ยงปลาในนาข้าว และเริ่มต้นในปี 2528 ที่อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ในเขต Land Demodelling คือบริเวณที่มีการขุดคลองส่งน้ำขนาดใหญ่ และมีคลองย่อยนำน้ำไปสู่นาเกษตรกรในแถบนั้น ๆ คลองเหล่านี้จะไปบรรจบกับแม่น้ำมูล แต่การเลี้ยงปลาในนาของเกษตรกรไม่ประสบความสำเร็จ โดยมีอัตราการรอดตาย และอัตราการเติบโตต่ำ ดังนั้นโครงการเพิ่มผลผลิตในนาปลาเขตทุ่งกุลาร้องไห้ องสุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด จึงได้เริ่มขึ้นในปี 2529