รายละเอียดบทคัดย่อ


นงลักษณ์ สุพรรณไชยมาตย์, สุจินต์ สิมารักษ์, กนก ผลารักษ์, พรชัย ล้อวิลัย และ สมชาย เคี่ยนเมธี. 2532. การวิเคราะห์เชิงเศรษฐกิจการเลี้ยงโคนมในระบบการปลูกพืชสลับทุ่งหญ้า.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 6 : . ระหว่างวันที่ 27-30 มีนาคม 2532 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ. ขอนแก่น.  น.233-248.

บทคัดย่อ

         การปลูกทุ่งหญ้าสลับพืชไร่มีวัตถุประสงค์ในการปรับปรุงและอนุรักษ์ความอุดมสมบูรณ์ของดิน เกษตรกรรายย่อยในเขตนิคมอุบลรัตน์ มีการปลูกมันสำปะหลังและปอติดต่อกันหลายปี ทำให้ผลผลิตมนปีหลังๆ ต่ำลง โครงการปลูกพืชสลับทุ่งหญ้าจึงได้แนะนำให้เกษตรกรปลูกหญ้าเพื่อเลี้ยงสัตว์เป็นการพักดินเป็นเวลา 3 ปี แล้วไถกลบเพื่อปลูกมันสำปะหลังในปีที่ 4 ทั้งนี้โครงการได้จัดสรรโคนมพร้อมรีดนมได้ 2 ตัว เพื่อให้เกษตรกรเลี้ยงบนแปลงหญ้านั้นระหว่างรอไถกลบ รายงานฉบับนี้เป็นการวิเคราะห์ผลตอบแทนในเชิงเศรษฐกิจสำหรับระบบการปลูกป่าแปลงหญ้าและเลี้ยงโคนม เปรียบเทียบกับการปลูกพืชไร่ติดต่อกันตลอด 4 ปี ซึ่งเป็นระบบที่เกษตรกรเคยปฏิบัติ โดยวิธีเปรียบเทียบรายได้เหนือรายจ่ายเงินสดของทั้งสองระบบ ผลการวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่า ถ้าจดสรรการลงทุนเริ่มแรกให้แก่เกษตรกรแล้ว ให้เกษตรกรส่งเงินคืนเมื่อขายน้ำนมดิบและฝูงโคในปีที่ 3 จะปรากฏผลตอบแทนในการลงทุนถึงร้อย 30 ต่อปี ของเงินลงทุนเริ่มแรก 39,727 บาท เมื่อเปรียบเทียบรายได้สุทธิระหว่างระบบปลูกพืชเดิมของเกษตรกร และระบบที่โครงการแระนำปรากฏว่าเกษตรกรจะได้รับผลตอบแทนสูงขึ้นจากระบบเดิมตลอด 4 ปี ถึง 57,212 บาท อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณารายได้เปรียบเทียบรายปีจะพบว่า 2 ปีแรกของการดำเนินงานระบบผลผิตที่โครงการแนะนำจะให้รายได้เหนือต้นทุนเงินสดที่ต่ำกว่าระบบเดิมที่เกษตรกรเคยปฏิบัติ เมื่อพิจารณาโครงการคิดดอกเบี้ยของเงินลงทุนร้อยละ 9.5 ต่อปี ปรากฏว่าระบบที่โครงการแนะนำจะยังคงให้ผลตอบแทนรวมที่สูงกว่าระบบเดิม หากแต่มีเงื่อนไขที่โครงการจะต้องชำระเพียงดอกเบี้ยของเงินลงทุนในแต่ละปี ส่วนเงินต้นจะได้รับคืนเมื่อเกษตรกรขายฝูโคนมแล้ว ในกรณีที่เกษตรกรไม่ขายฝูงโคในปีที่ 3 จะปรากฏผลตอบแทนรายปี่ไม่เพียงพอแก่การชำระเงิน คืนโครงการในเวลาเพียง 3 ปี หากแต่การชำระเงินคืนจะต้องยืดเวลาออกไปเป็น 6 ปี หรือในทางตรงข้ามเกษตรกรต้องพยายามเพิ่มผลผลิตน้ำนมจากเดิม ซึ่งเฉลี่ยประมาณ 5 กิโลกรัม/ตัว/วัน ให้ได้สูงเท่าตัว และหากระดับราคาน้ำนมดิบยังคงที่ 7 บาท/ กิโลกรัม อัตราการผสมน้ำนมจะต้องสูงถึง 6 กิโลกรัม/ตัว/วัน จึงจะให้ผลตอบแทนที่ทดแทนรายได้ที่เกษตรกรสูญเสียไปจากการปลูกพืชไร่และงานรับจ้าง นอกจากนี้ การวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตน้ำนมของเกษตรกรในเขตนิคมอุบลรัตน์ยังพบว่า ค่าใช้จ่ายในการขนส่งน้ำนมสู่ตลาดสูงถึงร้อยละ 50 ของรายจ่ายทั้งหมด และยังพบปัญหาความแปรปรวนของปริมาณการผลิตน้ำนม ซึ่งสะท้อนให้เห็นปัญหาในการจัดการแปลงหญ้าและปัญหาการลดความอุดมสมบูรณ์ของแปลงหญ้าในฤดูแล้งอย่างรวดเร็วซึ่งนำไปสู่คำถามที่ว่า ระบบการปลูกแปลงหญ้าสลับพืชไร่ เช่นที่โครงการแนะนำจะมีถาวรภาพอย่างไร