รายละเอียดบทคัดย่อ


 . ระบบสนับสนุนการจัดสรรที่ดินเชิงพื้นที่เพื่อวางแผนการผลิตทางเกษตร.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 7 :ระบบเกษตรไทยใต้ร่มพระบารมี เพื่อความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน . ระหว่างวันที่ 8-10 สิงกาคม 2554 ณ โรงแรมตักสิลา มหาสารคาม.  น.356-373.

บทคัดย่อ

         การวางแผนการผลิตทางการเกษตรที่เหมาะสมอาจดำเนินการโดยใช้แบบจำลองหลายเป้าหมายแบบมีส่วนร่วม (Interactive Goal Programming, IMGP) หนึ่งในผลลัพธ์สำคัญที่ได้คือ ค่าตัวแปรสำหรับการตัดสินใจซึ่งเป็นตัวเลขแสดงเนื้อที่เพาะปลูกที่เหมาะสมสำหรับแต่ละระบบพืช ผลลัพธ์ดังกล่าวยังไม่สามารถระบุเขตการผลิตพืชเหล่านั้นในรูปแผนที่ได้ จึงทำให้การแสดงแผนการผลิตและการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียในแผนการผลิตตามนโยบายต่างๆไม่ดีเท่าที่ควร บทความนี้อธิบายการพัฒนาโปรแกรมจัดสรรที่ดินเชิงพื้นที่ (Spatial Land Allocation, SLA)เพื่อปรับปรุงการแสดงผลลัพธ์จากแบบจำลอง IMGP ที่ใช้ในการวางแผนการผลิตที่เหมาะสมในจังหวัดลำพูน ให้สามารถนำไปใช้ในงานวางแผนการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ระบบดังกล่าวประกอบด้วยข้อมูลเชิงพื้นที่ดัชนีความเหมาะสมของที่ดิน หน่วยจัดการทรัพยากรที่ดิน (Land Resource Unit, LRU) และหน่วยแผนที่เพื่อการจัดสรรที่ดิน (Land Allocation Unit) โปรแกรมที่มีส่วนโต้ตอบกับผู้ใช้เป็นภาษาไทย เพื่อนำเข้าผลลัพธ์จากแบบจำลอง IMGP และข้อมูลเชิงพื้นที่ที่จำเป็นต้องใช้ในการจัดสรรที่ดินให้กับระบบพืชเป้าหมาย โปรแกรมทำการวิเคราะห์เชิงพื้นที่โดยเรียกใช้คำสั่งในระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อจัดสรรที่ดินโดยใช้ 3 วิธีการคือวิธีการจัดสรรที่ดินแบบลำดับชั้น (HO) วิธีการที่ใช้ระยะจากจุดอุดมคติ (IPA) และวิธีการจัดสรรที่ดินแบบหลายวัตถุประสงค์ (MOLA) ผลลัพธ์ของการจัดสรรที่ดินแสดงเป็นแผนที่สำหรับแต่ละสถานการณ์การผลิตพืชตามที่ผู้ร่วมกันวางแผนกำหนด ได้เปรียบเทียบสมรรถนะของการจัดสรรที่ดินของ 3 วิธีการดังกล่าว โดยอาศัยค่าดัชนีความเหมาะสมโดยรวมและความเป็นกลุ่มก้อน (Compactness) ของแปลงที่จัดสรรให้กับพืช รวมทั้งเวลาที่ใช้ในการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ ผลการเปรียบเทียบพบว่า วิธีการ MOLA มีประสิทธิภาพในการจัดสรรที่ดินมากกว่าวิธีการอื่นไม่ว่าจะใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ประเภทเวคเตอร์หรือราสเตอร์ เนื่องจากสามารถจัดสรรเนื้อที่ให้กับพืชไม่ต่ำกว่าร้อยละ 98.3 ของเนื้อที่เป้าหมายที่ได้จากแบบจำลอง IMGP ได้ค่าดัชนีความเหมาะสมของที่ดินโดยรวมสูงกว่าและแปลงปลูกพืชที่จัดสรรได้เป็นกลุ่มก้อนมากกว่าวิธีการอื่นนอกจากนี้ยังใช้เวลาในการประมวลผลข้อมูลประเภทเวคเตอร์น้อยที่สุด โปรแกรม SLAที่พัฒนาขึ้นสามารถนำไปใช้ในการจัดสรรที่ดินเชิงพื้นที่ในการวางแผนการใช้ที่ดินโดยใช้แบบจำลองอื่นได้ หากผู้ใช้ทราบเนื้อที่เป้าหมายที่เหมาะสมสำหรับแต่ละระบบพืชลำดับความสำคัญของพืชเป้าหมาย และดัชนีความเหมาะสมของที่ดินสำหรับพืชเป้าหมายที่มีค่าต่อเนื่อง ผู้ใช้สามารถจัดสรรที่ดินเชิงพื้นที่ได้แบบอัตโนมัติด้วยโปรแกรม SLA โดยจัดเตรียมข้อมูลเชิงพื้นที่เป็น Shape file ดังนั้นจึงมีประโยชน์ในการวางแผนการผลิตพืชหรือจัดเขตการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรตามนโยบายการผลิตแบบต่างๆ ตั้งแต่ระดับตำบล จังหวัดหรือในลุ่มน้ำระดับต่างๆ