ภาคเหนือตอนบนหมายรวมถึง 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน น่าน เชียงราย แพร่ พะเยา ลำปาง และแม่ฮ่องสอน ทุกจังหวัดมีการทำสวนมะม่วง แต่ 4 จังหวัดแรกที่กล่าวมานั้น ถือเป็นแหล่งผลิตมะม่วงเพื่อการค้าและส่งออกที่สำคัญ เรียงจากมากไปหาน้อยตามลำดับ ทั้งนี้เป็นเพราะชาวสวนทั้ง 4 จังหวัดมีการสร้างสถาบันเกษตรกร และเรียนรู้ร่วมกันผ่านปฏิบัติการที่ซับซ้อน ทั้งด้านการทำงานร่วมกันในกลุ่ม การผลิต และการตลาดขึ้นมาอย่างชัดเจน
การที่ภาครัฐสร้างการรับรู้ในเรื่อง เทคโนโลยีการผลิต การตลาด และการพัฒนากลุ่มและเครือข่ายให้เข้มแข็ง ด้วยกิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์หลากหลายรูปแบบ รวมทั้งการทัศนศึกษาดูงานให้แก่เกษตรกรชาวสวนในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง เมื่อผนวกกับความต้องการของตลาดกับการผลิตที่ยังสมดุลกันในทศวรรษที่ผ่านมา หรือช่วงปี พ.ศ. 2550-2560 ส่งผลให้พื้นที่การผลิตมะม่วงเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด แต่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานี้ การผลิตกลับเริ่มยากขึ้นอันเนื่องจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ ร่วมกับความผันผวนของราคาที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในปีการผลิต 2560-2561 ที่ผ่านมา ด้วยเหตุที่ยังขาดข้อมูลที่ชัดเจนจากภาครัฐมายืนยัน จึงได้แต่คาดเดาว่า อัตราการขยายตัวของพื้นที่ปลูกมะม่วงในภาคเหนือตอนบนในปีการผลิต 2561-2562 จะลดลง
เกษตรกรชาวสวนภาคเหนือตอนบน ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตมะม่วงในฤดู (เมษายน-พฤษภาคม) และล่าฤดู (มิถุนายน-กรกฎาคม) ของประเทศ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาตามธรรมชาติที่เหมาะสมที่สุด แต่ในปีการผลิต 2560-2561 ที่ผ่านมา ถือว่าสินค้าได้รับผลกระทบด้านราคาสูงสุดในรอบ 30 ปี โดยเฉพาะที่เป็นมะม่วงในฤดู เนื่องจากผลผลิตล้นตลาด คาดว่าในปีการผลิต 2561-2562 ยังมีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำได้อีก หากความพยายามผลิตมะม่วงล่าฤดูไม่สำเร็จ ส่วนสินค้าที่ด้อยคุณภาพลง อันเนื่องมาจากได้รับฝนค่อนข้างมาก ในช่วงออกดอกติดผลไปจนถึงใกล้ระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต ถือเป็นเรื่องของภัยธรรมชาติที่ยากจะคาดเดาได้ อาจจะต้องอาศัยเทคโนโลยีใหม่จากงานวิจัยเข้ามาแก้ไขหรือบรรเทาปัญหา
สำหรับในปี พ.ศ. 2560 นับเป็นการปรับตัวครั้งสำคัญของเกษตรกรชาวสวนมะม่วงจังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้รวมกลุ่มชาวสวนมะม่วง 15 กลุ่ม ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในหลายอำเภอ ผนึกกำลังเป็น “เครือข่ายวิสาหกิจชุมชาวสวนมะม่วงเชียงใหม่” พร้อมมีการผลักดันหลายกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่สมาชิก แต่ที่สร้างความคาดหวังไว้มากที่สุด น่าจะเป็นการขับเคลื่อน “โครงการสร้างตลาดมะม่วงล่วงหน้า” นำร่องด้วยการมีส่วนร่วมของเกษตรกรชาวสวนจำนวนประมาณ 40 ราย 4 กลุ่ม จาก 4 อำเภอ ได้แก่ พร้าว แม่แตง เชียงดาว และเวียงแหง เพื่อรุกสร้างตลาดกับผู้ประกอบการส่งออกตั้งแต่ต้นฤดูการผลิต ด้วยการนำเอาแนวทางของ “สวนมะม่วงคุณช้าง” ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างยาวนานร่วม 30 ปี มาเป็นต้นแบบเพื่อการต่อยอด
ส่วนการปรับตัวด้วยการปลูกไม้ผลพืชรอง เพื่อลดความเสี่ยงจากการปลูกมะม่วงเชิงเดี่ยว ไม่ว่าจะเป็น ลำไย กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม กล้วยไข่ มะพร้าวน้ำหอม กระท้อน ลองกอง เงาะ มะไฟ มะยงชิด มะละกอ ขนุน และทุเรียน รวมทั้ง “ไผ่” ล้วนได้รับความสนใจจากเกษตรกรชาวสวนมะม่วงเป็นอย่างดี แต่ไม้ผลพืชรองดังกล่าวก็มีราคาตกต่ำในปีการผลิต 2560-2561 อย่างทั่วหน้าเช่นกัน ยกเว้นแต่ ทุเรียน ที่มีราคาสูงอย่างเป็นที่น่าพอใจ สวนทุเรียนที่ให้ผลผลิตแล้วหลายแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งที่อำเภอฝางและแม่แตง ได้รับความสนใจเป็นแหล่งเรียนรู้อย่างกว้างขวางในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา
เกษตรกรชาวสวนมะม่วงในภาคเหนือตอนบน แม้ได้รับการเสริมสร้างศักยภาพจากทั้งทางภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคเอกชน รวมทั้งแรงผลักดันด้วยตนเองหรือที่เรียกว่าการระเบิดจากภายใน ด้วยการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ การมีส่วนร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เห็นเป็นรูปธรรม เช่น การจัดงานวันมะม่วง ซึ่งมีครบทุกทั้ง 4 จังหวัดในแหล่งผลิตมะม่วงสำคัญ ตลอดจนการสร้างกลุ่มและเครือข่ายขึ้นมาอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ที่มีรูปแบบของสถาบันเกษตรกรค่อนข้างครบถ้วน ตั้งแต่ กลุ่ม วิสาหกิจชุมชน และเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน แต่สิ่งที่ยังขาดและต้องการการเติมเต็มจากภาครัฐเป็นอย่างยิ่งก็คือ การหยิบยื่น “กองทุนเงินหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำ” ให้แก่สถาบันเกษตรกรเหล่านี้ ที่ผ่านมาแม้ภาครัฐจะมีนโยบายช่วยเหลือชุมชนเป็นเงินกองทุนลงมาหลายโครงการ แต่สถาบันเกษตรกรชาวสวนเหล่านี้ส่วนใหญ่กลับไม่สามารถเข้าถึงได้เลย
ธวัชชัย รัตน์ชเลศ (ที่ปรึกษาสมาคมชาวสวนมะม่วงไทย)